สป.อว.จับมือ สวทช. และTMA วิจัยพัฒนา “หุ่นยนต์เอไอ” และ “หนูนา หุ่นยนต์ทำนา”

สป.อว.จับมือ สวทช. และสมาคมเครื่องจักรกลไทย

วิจัยพัฒนา “หุ่นยนต์เอไอ” และ “หนูนา หุ่นยนต์ทำนา”

 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (สป.อว.) ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (หรือ MTEC สวทช.) ให้การสนับสนุนเงินทุนและการบริหารจัดการ “โครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า” กับสมาคมเครื่องจักรกลไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนา วิจัย และสร้างนวัตกรรมในการผลิตเครื่องจักรไว้ใช้ภายในประเทศที่เป็นผลงานฝีมือคนไทย เพื่อทดแทนการลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

วันที่ 23 สิงหาคม 2565 – นายธนาภรณ์ โกราษฎร์ หัวหน้าโครงการบริหารจัดการโครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า วิศวกรอาวุโส สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (MTEC สวทช.) – นายจิรวัฒน์ วงษ์สมาน ผู้แทนกองส่งเสริมและประสานประโยชน์เพื่อวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สป.อว. – นายประสาร บุนฑารักษ์ เลขาธิการสมาคมเครื่องจักรกลไทย ร่วมกันแถลงข่าว “โครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า หุ่นยนต์เอไอ และหนูนา หุ่นยนต์ทำนา

นายธนาภรณ์ โกราษฎร์ หัวหน้าโครงการ ผู้แทนหน่วยบริหารจัดการโครงการ กล่าวถึงที่มาของโครงการนี้ว่า ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ MTEC สวทช เรามีพัฒนากิจในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการทำวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ช่วยต่อยอดให้กับธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยมีทีมวิจัยงานพัฒนาเครื่องจักรกล ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยที่มีบุคลากรพร้อมความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เรามีความร่วมมือกับกองส่งเสริมและประสานประโยชน์เพื่อวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในโครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ซึ่งมีกรอบการทำงานที่โดดเด่นเรื่องหนึ่งคือการสนับสนุนงบประมาณให้กับหน่วยงานประเทศองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือสถานปรับการศึกษา เพื่อการพัฒนาสร้างเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่เกิดประโยชน์แก่ประเทศ โดยจะต้องนำเสนอแง่มุมด้านความใหม่ อาจจะไม่จำเป็นต้องไม่ซ้ำใคร แต่สร้างโอกาสการขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ได้ด้วยโอกาสทางทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเหมาะสม ด้วยทุนงบประมาณไม่เกินกึ่งหนึ่งจากภาครัฐ และมีผู้ประกอบการมีส่วนร่วมอีกไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่ง ซึ่งสมาคมเครื่องจักรกลไทยเป็นพันธมิตรที่ทำงานร่วมกับกระทรวงมาตั้งแต่กระทรวงวิทยาศาสตร์ จนเกิดเป็นกระทรวง อว ในฐานะหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นการร่วมกลุ่มกันของสมาชิกด้านการสร้างเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีความหลากหลาย ทั้งการผลิตเครื่องจักรเฉพาะด้านและการรับจ้างผลิตตามสั่งหรือ system integrators ก็ตาม สมาคมจัดเป็นหน่วยงานพันธมิตรที่สำคัญของโครงการในการร่วมพัฒนาผลงานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากเดิมที่โครงการมีจุดเริ่มต้นจากการสนับสนุนให้พัฒนาผลงานด้วยวิศวกรรมย้อนรอย จนวันนี้ที่เน้นการพัฒนาผลงานด้วยการพัฒนาและต่อยอดเป็นวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า และมีโอกาสพัฒนาต่อไปเป็นรูปแบบที่ใหม่ขึ้นในยุคที่อุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัว หลังจาก industry 4.0 ยุคของ IoT ยุคแห่งการ disrupt technology และยุคแห่ง digital twin ที่เริ่มเข้ามามากขึ้น การพัฒนาจะไม่ใช่เพียงการลดต้นทุน เพิ่มยอดขาย หาตลาดใหม่ เลือกว่าจะอยู่ในตลาด mass หรือ ตลาด niche แต่ต้องในองค์ประกอบของธุรกิจที่พร้อมลื่นไหลไปในยุคที่สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งโครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า เราพยายามสนับสนุนให้เกิดโอกาส และสนับสนุนให้ภาคส่วนที่สอดคล้องตามเงื่อนไขของโอกาสได้มีบทบาทในการสร้างประโยชน์ร่วมกับเราให้ได้มากที่สุดและอยากให้ติดตามผลงานของโครงการต่อไปครับ

นายจิรวัฒน์ วงษ์สมาน ผู้แทนกองส่งเสริมและประสานประโยชน์เพื่อวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า กิจกรรมในโครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า คือการพัฒนาผลงานที่ต่อเนื่องจากโครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมย้อนรอย ซึ่งเริ่มต้นขึ้นโดยสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว และเมื่อปรับเปลี่ยนชื่อกระทรวงเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมกับชื่อสำนักที่เปลี่ยนเป็น กองส่งเสริมและประสานประโยชน์เพื่อวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมทั้งกรอบการทำงานด้านพัฒนาผลงานที่จากเดิมประเทศไทยยอมรับว่าการพัฒนาผลงานทางวิศวกรรมด้วยนวัตกรรมฝีมือคนไทยยังมีข้อจำกัดอยู่มาก การ shortcut วิธีการด้วยการทำ copy and development หรือการทำ reverse engineering จึงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในช่วงแรก แต่ขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยนั้นมีการปรับตัวและนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาอยู่ตลอดนับตั้งแต่โลกเข้าสู่ยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร การผลักดันนวัตกรรมใหม่ ๆ ถูกนำเสนอออกมาอย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศที่มีความโดดเด่นในด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรม ทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี ชาติในยุโรป และจนมาสู่ยุคที่จีนคือประเทศอันดับต้น ๆ ของโลกเช่นกันในบทบาทการสร้างนวัตกรรม เหล่านี้จึงเป็นสิ่งเร้าที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาและต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาตเป็นหลักอย่างชาติในอาเซียน ต้องปรับตัว และในฐานะที่กระทรวง อว เราคือหน่วยงานภาครัฐ การสนับสนุนและส่งเสริม ทั้งในเชิงอุดหนุนงบประมาณ การสร้างพื้นที่เพื่อการนำเสนอ การผลักดันด้วยกลไกต่าง ๆ กิจกรรมที่เป็นการผลักดัน เช่นการจัดประกวดรางวัลเครื่องจักรกลยอดเยี่ยมร่วมกับสมาคมเครื่องจักรไทย การจัดกิจกรรมการสนับสนุนด้วยทุนวิจัย การมีกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ การประกวดผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์ และการนำหน่วยงานระดับมหาวิทยาลัยมาร่วมในกิจกรรมการพัฒนาแผนงานที่หวือหวาอย่าง hackaton เป็นต้น ในขณะที่การประกวด tedtalk หรือการ pitching ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย สร้าง influencer หน้าใหม่แบบข้ามคืนก็เป็นแนวทางที่น่าสนใจเช่นกัน จึงอยากให้ติดตามการทำงานของกองส่งเสริมและประสานประโยชน์เพื่อวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กปว สป อว ต่อไปครับ แต่ในกิจกรรมวันนี้ ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดี และแสดงความขอบคุณต่อผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC สวทช ที่มีบทบาทการบริหารจัดการโครงการ การร่วมดำเนินงานในทุกขั้นตอนตั้งแต่การพิจารณาคัดเลือกผลงานที่ดูแล้วมีคุณค่ามานำเสนอสู่ภาคการผลิต สร้างผลกระทบที่ดีแก่ประเทศ ขอบคุณสมาคมเครื่องจักรกลไทยที่รับงบประมาณสนับสนุนไปสร้างประโยชน์และพัฒนาเป็นผลงานที่เกิดขึ้นในวันนี้ ร่วมกับภาคเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการไทย โดยมีแนวคิดที่น่าชื่นชมในการพัฒนาและวิจัยหุ่นยนต์มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรได้เป็นอย่างดีของบริษัท ที.ซี.เวลดิ้ง ออโตเมชั่น จำกัด และผู้มีส่วนร่วมในขั้นตอนต่าง ๆ ที่อาจไม่ได้กล่าวถึงในวันนี้ จึงขอแสดงความชื่นชน และขอบคุณอีกครั้งมา ณ โอกาส นี้ครับ

นายประสาร บุนฑารักษ์ เลขาธิการสมาคมเครื่องจักรกลไทย กล่าวว่า สมาคมเครื่องจักรกลไทย เกิดจากการรวมตัวของผู้ประกอบการไทย เพื่อเป็นศูนย์รวมของผู้ผลิตเครื่องจักรโดยฝีมือคนไทย โดยทางสมาคมฯเป็นหน่วยงานประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชน มีบทบาทร่วมกันที่จะส่งเสริมและสนับสนุน ให้เกิดการพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมเพื่อการผลิตใช้ภายในประเทศและการส่งออก ลดและทดแทนการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ และสำหรับโครงการฯนี้เป็นส่วนหนึ่งในความร่วมมือกันระหว่างรัฐ และเอกชน พัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบ ที่ตอบโจทย์ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมไทย เกิดผลงานที่ชื่อว่า หุ่นยนต์เอไอ และหนูนา หุ่นยนต์ทำนา ของบริษัท ที.ซี.เวลดิ้ง ออโตเมชั่น จำกัดซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมฯ และในการงานแถลงวันนี้ สมาคมฯต้องขอขอบคุณทางกองส่งเสริมและประสานประโยชน์เพื่อวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สป.อว. และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ MTEC สวทช ที่สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาเครื่องจักรในครั้งนี้ รวมถึงขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จในการพัฒนาสร้างหุ่นยนต์เอไอ และหนูนา หุ่นยนต์ทำนา โดย ของบริษัท ที.ซี.เวลดิ้ง ออโตเมชั่น จำกัด ทุกท่านสามารถติดตามความเคลื่อนไหวและความร่วมมือระหว่างสมาคมฯกับหน่วยงานต่างๆ และโครงการอื่นๆได้ทาง เว็ปไซต์ https://thai-machinery.or.th ครับ 

 

โครงการพัฒนาสร้างหุ่นยนต์เอไอ (AI Robotics)

โดย บริษัท ที.ซี.เวลดิ้งออโตเมชั่น จำกัด

รายละเอียดผลงานที่พัฒนา/สมรรถนะของผลงาน

ปัญหาอุตสาหกรรมเชื่อมโลหะ เช่นอู่ต่อเรือ โครงสร้างอาคารเหล็ก อุตสาหกรรมรถขนส่ง ยังขาดเทคโนโลยีเครื่องจักรที่มาช่วยผลิต เทคโนโลยีที่มีอยู่ราคาสูง นำเข้าจากต่างประเทศ และยังไม่ตอบโจทย์การเชื่อมชิ้นงานขนาดใหญ่ได้ การผลิตแบบเดิมยังใช้แรงงานฝีมือเข้มข้นที่เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานเชื่อมอย่างมาก

ในขั้นตอนการผลิตยังเสียเวลามาก และเครื่องมือที่ใช้ยังไม่ได้รับการพัฒนา หากต้องการทำงานด้วยหุ่นยนต์ ต้องลงทุนกับจิ๊กประกอบชิ้นงาน และใช้เวลามากเพื่อเตรียมชิ้นงานให้ได้ขนาดสำหรับรองรับทำงานด้วยหุ่นยนต์ ทั้งหมดคือต้นทุนและเวลา ที่ทำให้เกิดความล่าช้า หรืองานไม่ได้งานที่มีคุณภาพ อีกปัญหาเกิดจากการเตรียมชิ้นงานที่ไม่ตรงตามแบบ การประกอบชิ้นงานมีความเหลื่อม โค้ง ตกท้องช้างมากเกิน ทำให้การนำหุ่นยนต์นำเข้ามาใช้ยังไม่เกิดประสิทธิสูงสุด ดังนั้นการแก้ปัญหาคือ ทำให้แขนกลสามารถรู้จักระยะเชื่อม จุดเริ่มต้นและสิ้นสุดของงาน ทำให้แขนกลหุ่นยนต์ สามารถเชื่อมต่อเนื่องได้โดยไม่สะดุดและชิ้นงานไม่เสียหาย

คณะผู้วิจัยได้พัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เพื่อเชื่อมต่อกับระบบ เซ็นเซอร์Vision ที่สามารถทำงานควบคู่กับแขนกลหุ่นยนต์เชื่อมได้ โดยเซนเซอร์ที่เสมือนดวงตา เพื่อให้แขนกลหุ่นยนต์สามารถรับรู้ตำแหน่งของแนวเชื่อมและทำการเชื่อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้วิจัย ได้เข้าทดสอบและเก็บข้อมูลจากผู้ประกอบการจริง จากอุตสาหกรรมต่อเรือ ต่อรถสิบล้อ และ อุตสาหกรรมเสาไฟฟ้าส่องสว่าง ที่มีการใช้แขนกลหุ่นยนต์ในงานเชื่อม

นอกจากปัญหาที่เกี่ยวกับการประกอบชิ้นงานที่ไม่ได้ตามแบบแล้วอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญก็คือ ลักษณะพื้นผิวของชิ้นงาน ที่มีความหลากหลาย ผู้วิจัยจึงได้พัฒนาต่อยอด ซอฟท์แวร์ส่วนของเซนเซอร์ ให้ครอบคลุมปัจจัยที่ต่างกันของพื้นผิวแต่ละแบบ และสามารถแก้ปัญหา ให้ Vision สามารถจับ พื้นผิวที่มีความสะท้อนของแสงมาก หรือ ดูดแสงมาก หรือพื้นผิวที่มีฝุ่นควันปกคลุม

คุณลักษณะของหุ่นยนต์เอไอ (AI Robotics) 

หุ่นยนต์เอไอ (AI Robotics) ถูกพัฒนาให้เป็นเสมือนหุ่นยนต์มีดวงตา ที่หุ่นยนต์มองเห็นแนวเชื่อม พร้อมปรับระยะหัวเชื่อมให้ตรงแนวเชื่อมแบบอัตโนมัติได้

คุณสมบัติของหุ่นยนต์เอไอ (AI Robotics) 

หุ่นยนต์ AI เกิดจากการพัฒนาระบบปฏิบัติการ ขึ้นมา 2ส่วนคือ ระบบปฎิบัติการควบคุมหุ่นยนต์ และระบบปฏิบัติการควบคุมเซนเซอร์ Vision camera ให้2ระบบนี้ทำงานเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกัน เพื่อช่วยให้แขนกลหุ่นยนต์ เพิ่มความเร็วในการทำงานได้มากขึ้น ประมาณ 20% และราคาระบบเซนเซอร์ถูกกว่านำเข้าไม่น้อยกว่า 30% เซนเซอร์นี้สามารถเชื่อมต่อหุ่นยนต์ได้ด้วยระบบ EtherCat หรือระบบ input/output digital logic

คุณสมบัติเซนเซอร์ที่เหมาะสมกับงานเชื่อมคือ พื้นที่ตรวจสอบความผิดพลาดที่แก้ปัญหาได้คือ กว้าง*ยาว 10-200มม. ขึ้นอยู่กับขนาด พื้นที่ทำงานของกล้อง (FOV:field of vision) ความละเอียดการตรวจสอบ 0.1มม. ระยะตรวจสอบ 400มม. ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของอุปกรณ์ตรวจวัด

โครงการพัฒนาสร้างหนูนา หุ่นยนต์ทำนา

โดย บริษัท ที.ซี.เวลดิ้ง ออโตเมชั่น จำกัด

รายละเอียดผลงานที่พัฒนา/สมรรถนะของผลงาน

ประเทศไทย มีการทำการเกษตรกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะการปลูกข้าว เกษตรกรนอกจากจะปลูกข้าวเพื่อบริโภคและจำหน่ายภายในประเทศแล้ว ยังปลูกข้าวเพื่อส่งออกต่างประเทศ จึงทำให้ข้าวเป็นสินค้าเกษตรส่งออกอันดับ 2 ของไทย รองจากยางพารา

ทางผู้วิจัยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการปลูกข้าวของเกษตรกร จึงได้มีการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการทำนา เพื่อเพิ่มคุณภาพของข้าว ให้ดียิ่งขึ้น โดยใช้วิธีการในรูปแบบใหม่ ที่เน้นการใช้เครื่องจักร และเทคโนโลยี ที่มีความแม่นยำมากขึ้น เข้ามาช่วยในการปลูกข้าว

หัวใจในการปลูกข้าวเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี คือ การเตรียมดินพื้นที่การทำนาที่ดี เพื่อลดความเสี่ยงจากสภาพอากาศ โรค แมลง ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่การปลูกข้าวยังขาดการใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรกลที่เหมาะสม ในการปลูกข้าวฤดูหนึ่ง เกษตรกรจะต้องใช้เครื่องจักร ถึง 5 ขั้นตอน คือ ตีดิน ลูบเทือก หว่านเมล็ดพันธ์ พ่นยาคุมหญ้า หว่านปุ๋ย ซึ่งในแต่ละขั้นตอนทำโดยผู้รับจ้างแต่ละเจ้า ที่ไม่มีเกณฑ์ชี้วัดมาตรฐานคุณภาพของการทำนา มีการใช้ความสามารถเฉพาะของผู้รับจ้าง ชาวนาไม่อาจรู้ได้เลยว่า ข้าวที่ตนได้ปลูกนั้น อยู่ในดินที่สภาวะเหมาะสมกับพันธ์ข้าวนั้น ๆ หรือไม่ ส่งผลให้ชาวนา ต้องเสี่ยงกับภาวะขาดทุน ขายข้าวเปลือกได้ราคาต่ำเนื่องจากผลผลิตไม่ได้คุณภาพ

“หนูนา หุ่นยนต์ทำนา” คือ เครื่องมือที่แก้ปัญหาเหล่านี้ โดยการกำหนดมาตรฐานการเตรียมดินเพาะปลูกให้เหมาะสมกับพันธ์ข้าวนั้น ๆ ด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ ไร้คนขับ มีการรวมรวบขั้นตอนการทำงาน 5 ขั้นตอนไว้ในขั้นตอนเดียว และเป้าหมายทำได้เร็วกว่าเดิม 3 เท่า ต้นทุนการผลิตลดลง 20% ผลผลิตเพิ่มขึ้น 20%

หุ่นยนต์ทำนา ออกแบบให้ครอบคลุมกับพื้นที่ทำนาเขตชลปทาน และพื้นที่น้ำฝน ใน 1 รอบฤดูการปลูกข้าว 4 เดือน หนูนาทำงานได้ 3000 ไร่ ต่อเครื่อง จึงมีโอกาสผลิตหุ่นยนต์หนูนานี้ได้อีกจำนวนมาก เครื่องมือนี้ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตชาวนาได้มากขึ้น และเพิ่มโอกาสการแข่งขันส่งออกข้าวในตลาดโลกด้วย

คุณลักษณะของผลงาน

  • เพิ่มผลผลิตการปลูกข้าว โดยการทำนามาตรฐานตามหลักวิชาการด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ
  • ลดต้นทุนการผลิตข้าว โดยการทดแทนแรงงานคน ทำงานได้ไว และได้มาตรฐาน
  • แก้ปัญหาแรงงานภาคการเกษตร หุ่นยนต์ทำงานโดยไม่ใช้คนขับ
  • เพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้ชาวนาไทย ต้นทุนการผลิตต่ำกว่า และผลผลิตที่เพิ่มขึ้น
  • ลดความเสี่ยงจากสภาพอากาศ ประหยัดน้ำ ด้วยการใช้เครื่องจักรผลิตได้แม่นยำ และรวดเร็ว

คุณสมบัติของผลงาน

  • ขนาดตัวรถมีความกว้าง 3 เมตร ยาว 6 เมตร สูง 2.3 เมตร
  • เครื่องยนต์ต้นกำลัง ดีเซล 4 สูบ ขนาด 250 แรงม้า ระบายความร้อนด้วยน้ำ
  • ระบบขับเคลื่อนล้อ ด้วยไฮดรอลิก 3 เพลาขับ เป็นล้อเหล็กแบบพิเศษเพิ่มการสับดินด้วยน้ำหนักรถกดลงที่ล้อเหล็ก ช่วยลดภาระจอบตีดิน ประหยัดน้ำมันได้ เพลาละ 2 ล้อ ทั้งหมด 6 ล้อ พับล้อเก็บได้
    เพื่อการขนส่ง
  • ระบบควบคุมการเคลื่อนที่ทำงาน เป็นระบบอัตโนมัติไร้คนขับ กำหนดพื้นที่การทำงานแบบแผนที่ดาวเทียมระบบ GNSS RTK และ ความปลอดภัยด้วย Lidar
  • อุปกรณ์พ่วง ตีดิน เพื่อให้ความลึก ความร่วน คุณภาพดินเหมือนกันทั้งแปลง เหมาะสมกับพันธ์ข้าวนั้นๆ
  • มีความกว้าง 6 เมตร แบบพับได้ด้วยระบบไฮดรอลิก
  • กำหนดความลึก รอบตีดิน สัมพันธ์กับความเร็วของการเดินของรถ ด้วยโปรแกรม
    และเซนเซอร์
  • ความละเอียด 2.5 เซนติเมตร สามารถเก็บโปรแกรมการทำงานไว้ได้
  • อุปกรณ์พ่วง ปรับระดับผิวดิน (ลูบเทือก) ให้เรียบเสมอกัน ลดต้นทุนน้ำ เพิ่มผลผลิตข้าว ข้าวเปลือก
    ได้คุณภาพเพราะสุกเสมอกัน
  • หน้ามีความกว้าง 6 เมตร พับได้ ช่วงละ 2 เมตร
  • ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ ดาวเทียมระบบ GNSS RTK ความละเอียด 2.5 เซนติเมตร
  • สามารถต่อพ่วงกับอุปกรณ์ตีดิน
  • อุปกรณ์พ่วง หยอดเมล็ดข้าว เพื่อประหยัดต้นทุนเมล็ดพันธุ์ ป้องกันโรค แมลง ปริมาณข้าวไม่แออัด
    อัตราการเติบโต เสมอกันทั้งแปลง เมื่อเก็บเกี่ยวจะได้ข้าวที่สุกพร้อมกันพร้อมกันคุณภาพดี
  • กำหนดปริมาณ เมล็ดข้าว ต่อหลุมให้ได้ความแม่นยำ
  • กำหนดระยะห่างกอข้าวได้
  • ทำงานด้วยระบบโปรแกรมอัตโนมัติ
  • อุปกรณ์พ่วง ฉีดพ่นสารเคมี ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
  • กำหนดปริมาณสารเคมีแม่นยำกับความเร็วทำงานของรถ
  • ทำงานด้วยโปรแกรมและเซนเซอร์
  • อุปกรณ์พ่วง ใส่ปุ๋ย
  • กำหนดปริมาณปุ๋ยแม่นยำกับความเร็วทำงานของรถ
  • ทำงานด้วยโปรแกรมและเซนเซอร์
LEAVE A REPLY

Your email address will not be published. Required fields are marked *