สป.อว. จับมือ สวทช. และสมาคมเครื่องจักรกลไทย

สป.อว. จับมือ สวทช. และสมาคมเครื่องจักรกลไทย ผนึกกำลังร่วมวิจัยพัฒนาชุดอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (สป.อว.) ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (หรือ MTEC สวทช.) ให้การสนับสนุนเงินทุนและการบริหารจัดการ “โครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า” กับสมาคมเครื่องจักรกลไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนา วิจัย และสร้างนวัตกรรมในการผลิตเครื่องจักรไว้ใช้ภายในประเทศที่เป็นผลงานฝีมือคนไทย เพื่อทดแทนการลดการนำเข้าจากต่างประเทศวันที่ 12 มิถุนายน 2566 – นางวนิดา บุญนาคค้า ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานประโยชน์เพื่อวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สป.อว. เป็นประธานเปิดงานแถลงข่าว “โครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า”

นางวนิดา บุญนาคค้า กล่าวว่า วันนี้ ดิฉันยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นความสำเร็จจากความร่วมมือในการพัฒนาสร้างเครื่องจักรและเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กับสมาคมเครื่องจักรกลไทย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มผู้ประกอบการเอกชนไทยที่รวมตัวกันเพื่อวิจัยเทคโนโลยีด้านเครื่องจักรกลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ ลดการนำเข้าเครื่องจักร รวมถึงภาระกิจด้านการพัฒนาวิชาชีพและช่างฝีมือแรงงานให้กับผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อมกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้ทุนวิจัยภายใต้โครงการ “วิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า” เพื่อทำวิจัยในรูปแบบ Reverse Engineering ซึ่งเป็นการวิจัยเครื่องจักรกลสมัยใหม่จากต่างประเทศ นำมาถอดแบบศึกษาโครงสร้าง ชิ้นส่วนและฟังก์ชันการทำงานต่างๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน จากนั้นนำองค์ความรู้ที่ได้ มาผสมผสานกับสหวิทยาการที่เรามีอยู่ ใช้ทรัพยากรในประเทศเพื่อออกแบบและสร้างเครื่องจักรกลต้นแบบให้ดีกว่าเดิม ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ และสิ่งสำคัญที่สุดคือสามารถซ่อมแซม บำรุงรักษาได้ด้วยคนไทย ซึ่งกระบวนการทำ Reverse Engineering เป็นการย่นระยะเวลาในการพัฒนาเทคโนโลยีได้ดี หลายประเทศเริ่มต้นพัฒนาเทคโนโลยีด้วยการทำ Reverse Engineering จนสามารถก้าวกระโดดกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำได้อย่างรวดเร็ว เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และจีน เป็นต้น ซึ่งความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องจักรกลต้นแบบที่นำมาแถลงข่าวในวันนี้ 7 ผลงาน ดังนี้ 1) รถตู้ไฟฟ้าสำหรับการบริการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถวีลแชร์ 2) เครื่องผลิตน้ำดื่มใสสะอาดและอากาศบริสุทธิ์จากบรรยากาศ 3) ชุดอุปกรณ์ความดันลบครอบเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยชนิดราคาเหมาะสม 4) เตียงผู้ป่วยชนิดพลิกคว่ำและปรับระดับเพื่อผงกศีรษะได้ 5) อุปกรณ์ตู้ความดันลบเพื่องานทันตกรรมสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ 6) เครื่องแปรรูปขยะอินทรีย์เป็นสารปรับปรุงดินชีวภาพภายใน24 ชม. ขนาดรับขยะเข้า 100 กก./วัน 7) ระบบเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ของโรงไฟฟ้าเผาขยะและชีวมวลและลดมลพิษทางอากาศด้วยการผสมก๊าซ Oxy Hydrogen ที่ผลิตจากน้ำ ดิฉันขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับทุกๆ ผลงานในวันนี้ และใคร่ขอความร่วมมือสื่อมวลชนได้ช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานฝีมือคนไทยให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างต่อไป และในส่วนกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ยังมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับองค์กรวิจัยภาคเอกชนและองค์กรธุรกิจอื่นๆ ที่มุ่งสร้างสรรค์ผลงานด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรกลและนวัตกรรมดีๆ ให้กับประเทศไทย ขอให้การแถลงข่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย บรรลุวัตถุประสงค์ทุกประการขอขอบคุณแขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนทุกท่านที่มาให้กำลังใจชื่นชมผลงานดีๆ ในวันนี้

Related posts

เปิดรับสมัครบริษัทเข้าร่วมการส่งเสริมจาก BOI

พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือในการสนับสนุนอุตสาหกรรมกัญชงไทย

สป.อว. จับมือ สวทช. และสมาคมเครื่องจักรกลไทย